จุดเลือดสีแดงอาจไม่ใช่ผื่น! แต่คือโรคเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะอันตรายที่ต้องรู้ให้ทัน

จุดเลือดสีแดงอาจไม่ใช่ผื่น! แต่คือโรคเกล็ดเลือดต่ำ ภาวะอันตรายที่ต้องรู้ให้ทัน

ภาวะความผิดปกติที่เรียกว่า “โรคเกล็ดเลือดต่ำ” เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้แบบที่หลายคนอาจไม่รู้ตัว เมื่อใดก็ตามที่อาการยังไม่รุนแรง ก็แทบจะไม่รู้ว่ามีต้นตอมาจากภาวะเกล็ดเลือดในร่างกายลดลง โดยเฉพาะคนที่มีจุดแดงเหมือนผื่นอยู่ใต้ผิวหนัง จนไม่ทันสังเกต คิดว่าเป็นผื่นหรืออาการแพ้ หากสังเกตแบบผิวเผินจะเหมือนกับร่องรอยยุงหรือแมลงกัด ดังนั้นเพื่อป้องกันก่อนจะสายเกินแก้ มาดูสาเหตุและวิธีป้องกัน จะได้ช่วยลดความเสี่ยงอันตรายให้กับทุกคนในครอบครัวได้มากขึ้น

อะไรคือโรคเกล็ดเลือดต่ำ ?

ภาวะเกล็ดเลือดต่ำหรือบางคนอาจจะเรียกว่าโรคเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วเมื่อทำการตรวจจะพบปริมาณเกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ มีสาเหตุหลักมาจากโรค ซึ่งแพทย์จะต้องทำการรักษาโรคดังกล่าวเพื่อจบต้นตอเพื่อให้ปริมาณของเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น

ซึ่งตัวเกล็ดเลือดนี้เป็นเม็ดเลือดชนิดหนึ่งที่พบได้ในกระแสเลือด หมุนเวียนอยู่ภายในร่างกาย ทำหน้าที่ช่วยหยุดเลือด ป้องกันเลือดออกเมื่อเกิดบาดแผล เมื่อใดก็ตามที่เกล็ดเลือดต่ำ จะทำให้เลือดหยุดไหลได้ช้า เสี่ยงต่อการเสียเลือดเยอะ ซึ่งมาตรฐานของระดับเกล็ดเลือดจะต้องไม่น้อยกว่า 150,000 เซลล์/ไมโครลิตร ถ้าในสัดส่วนนี้ มักจะไม่ค่อยมีอาการ แต่ถ้าหากต่ำว่า 30,000 เซลล์/ไมโครลิตร อาจพบอาการข้างเคียงอื่นได้ เช่น มีภาวะเลือดออกตามไรฟัน เลือดออกได้ง่าย เลือดห้ามยาก มีรอยจ้ำตามผิวหนัง หรือเป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนผื่นกระจายอยู่ จนทำให้หลายคนคาดไม่ถึงว่านี่เป็นสัญญาณของความผิดปกติ

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกล็ดเลือดต่ำ

เนื่องจากอาการเกล็ดเลือดต่ำเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ซึ่งแบ่งปัจจัยหลักได้ดังต่อไปนี้

1.เกล็ดเลือดต่ำที่มาจากความผิดปกติของไขกระดูก เช่น โรคกระไขกระดูกฝ่อ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด และในช่วงที่อายุมากขึ้น บางรายเกิดจากการสัมผัสกับยาฆ่าแมลง สารเคมี ไปจนถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาว

2.เกล็ดเลือดต่ำจากการถูกทำลาย ซึ่งมักจะมาจากภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงจากการติดเชื้อ หรือจากการได้รับวัคซีนบางชนิด บางรายมีเกล็ดเลือดลดลงเพราะมีภาวะเลือดออกอย่างรุนแรง เกล็ดเลือดจะถูกดึงเอาไปใช้เยอะขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการหยุดเลือด ไปจนถึงความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย และโรคเนื้องอกหลอดเลือดที่มีลักษณะเป็นสีแดงช้ำ

อาการของโรคเกล็ดเลือดต่ำ สังเกตได้อย่างไร?

เมื่อมีปริมาณของเกล็ดเลือดต่ำกว่า  150,000 เซลล์/ไมโครลิตร จะถือว่าอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยของโรคเกล็ดเลือดต่ำ จะพบจุดแดงที่ผิวหนัง เมื่อแปรงฟันจะมีเลือดออกมากกว่าปกติตามไรฟัน หากเกิดบาดแผลขึ้น เลือดจะออกมาก และหยุดช้า มีรอยจ้ำโดยไม่มีสาเหตุ แม้ผิวไม่ถูกกระแทกหรือบาดเจ็บมา ถ้าอาการรุนแรง จะมีเลือดออกจมูกและเหงือกบ่อย ส่วนในผู้หญิงจะพบประจำเดือนมามากกว่าปกติ

นอกเหนือจากนี้ความน่ากังวลของปริมาณเกล็ดเลือดที่ลดลง อาจพบเลือดที่ออกมาพร้อมกับปัสสาวะ พบเลือดออกภายในอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตตามมา

การรักษาเมื่อพบโรคเกล็ดเลือดต่ำ

ในขั้นตอนการรักษาแพทย์จะต้องเริ่มต้นจากการซักประวัติของผู้ป่วย พฤติกรรมการใช้ยา การใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ จากนั้นจะมีการตรวจสภาพร่างกาย ร่วมกับการตรวจเลือดและไขกระดูก บางรายจำเป็นต้องตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาการแข็งตัวของเลือด มีการตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อดูว่าม้ามขยายตัวใหญ่ขึ้นหรือไม่

เมื่อพบสาเหตุแล้วแพทย์จะรีบทำการรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิต โดยจะรักษาตามระดับความรุนแรง ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำไม่มาก อาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ให้ดูแลตัวเอง เลิกกินยาที่มีผลกับการลดลงของเกล็ดเลือด และให้ยาชนิดยับยั้งภูมิคุ้มกันร่วมด้วย แพทย์จะมีการติดตามการรักษาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเกล็ดเลือดของผู้ป่วยไม่ลดลงไปจากเดิม

สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำมาก เข้าขั้นอันตรายสูง ให้รีบเข้ารับการรักษาโดยทันที ซึ่งแพทย์จะมีการใช้ยารักษาทั้งชนิดกินและชนิดฉีด เช่น ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพื่อชะลอไม่ให้เกล็ดเลือดถูกทำลาย, ยาฮีดอิมมิวโนโกลบูลินเพื่อเข้าไปขัดขวางการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และยา Eltrombopag จะใช้ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทำให้ร่างกายถูกกระตุ้น สร้างเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ลดภาวะเลือดออกภายใน ป้องกันไม่ให้เสียเลือดจนหมดสติ

เมื่อใดก็ตามที่รู้ตัวว่ามีอาการเหมือนจะป่วยเป็นโรคเกล็ดเลือดต่ำ ให้รีบทำการเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุ จะได้รีบรักษาได้ทันการ ป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดต่ำมากจนเสี่ยงต่ออันตราย ยิ่งรักษาได้เร็ว ยิ่งช่วยให้หายจากโรคได้สูง ลดภาวะแทรกซ้อนได้ดีขึ้น

สุขภาพ